วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การบริหารงานบุคคล

แนวคิดและหลักการบริหารงานบุคคล

2.1 ความหมายและความสำคัญ
ความหมายของการบริหารงานบุคคล
คำว่า “การบริหารงานบุคคล” เป็นศัพท์ทางวิชาการ ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บัญญัติขึ้นใช้โดยถอดความจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Personnel Administration” หรือ ”Personnel Management” การบริหารด้านบุคลากรที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “การบริหารงานบุคคล” นี้ในภาษาอังกฤษก็มีการใช้กันหลายคำ เช่น Personnel Administration, Personnel Management, Labor Relations, Industrial Relations และ Manpower Management เป็นต้น ในภาษาไทยก็มีใช้อยู่หลายคำเช่นเดียวกัน เช่น การบริหารงานบุคคล การบริหารบุคลากร การจัดการงานบุคคล และการบริหารงานเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เนื่องจากในยุคปัจจุบันนี้วงวิชาการ และวิชาชีพบริหารใช้คำ “การบริหารงานบุคคล” กันอย่างกว้างขวางจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ความหมายและขอบข่ายของการบริหารงานบุคคลโดยทั่วไปนั้นได้มีผู้ให้นิยาม ความหมายไว้หลายความหมาย เช่น
แอปปลี (Apply, อ้างถึงใน ภิญโญ สาธร. 2517 : 6) ให้ความหมายของ การบริหารงานบุคคล คือ “การดำเนินการในการวางแผน และการกำหนดกระบวนการเกี่ยวกับตัว เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านศึกษาและวิจัย ในอันที่จะปรับปรุงนโยบายด้านบุคคล เทคนิคในการบริหารงานบุคคล และการพัฒนาความสามารถของบุคคลในองค์การ”
บีช (Beach, อ้างถึงใน ภิญโญ สาธร. 2517 : 6) ให้ความหมายของการบริหารงานบุคคลว่า การบริหารงานบุคคล คือ "การดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการวางนโยบาย และ โครงการเกี่ยวกับตัวบุคคล การคัดเลือกบุคคล การฝึกอบรม การกำหนดสิ่งตอบแทนต่างๆ การควบคุมอัตรากำลัง การเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน การสร้างภาวะผู้นำ ตลอดจนการ สร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการทำงานในองค์การหรือหน่วยงาน”
ไนโกร (Nigro, อ้างถึงใน ภิญโญ สาธร. 2517 : 6) ลงความเห็นว่า การบริหารงานบุคคล คือ ศิลปะของการคัดเลือกคนเข้าทำงาน และการใช้คนที่มีอยู่แล้วให้ทำงานอย่างมี คุณภาพสูงสุดและได้ผลงานมากที่สุด
วูลฟ์ (Wolf, อ้างถึงใน ภิญโญ สาธร. 2517 : 6) ให้ความหมายของการบริหารงานบุคคล ว่าเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับตัวบุคคล การทำให้เกิดการปฏิบัติงาน และการควบคุมการทำงานของบุคคลในองค์การ
ฟลิปโป (Flipo, 1961 : 4-7) กล่าวว่า การบริหารงานบุคคล หมายถึง การวางแผน การจัดองค์การ การอำนวยการ การควบคุมเกี่ยวกับการสรรหา การพัฒนาอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการทำนุบำรุงรักษาไว้ซึ่งบุคลากรขององค์การเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ขององค์การ
สุกิจ จุลละนันท์ (2510 : 102) ให้ความหมายไว้ว่า “การบริหารงานบุคคลเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการวางนโยบาย การวางแผนโครงการ ระเบียบและวิธีดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในองค์การใดองค์การหนึ่ง เพื่อให้ได้มาได้ใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรด้านมนุษย์ที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์”
สมพงศ์ เกษมสิน (2513 : 507) ให้ความหมายของการบริหารบุคคลว่า หมายถึง ศิลปะในการคัดเลือกสรรคนใหม่และใช้คนเก่าในลักษณะที่จะให้ได้ผลงาน และบริการจากการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านั้นมากที่สุดทั้งในด้านปริมาณงานและคุณภาพ
ชูศักดิ์ เที่ยงตรง (อ้างถึงใน หวน พินธุพันธ์. 2528 : 75) ให้ความหมายเชิง นิยามไว้ว่า “การบริหารงานบุคคล คือ การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้คนดี มีคุณวุฒิ และมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่มาทำงานด้วยความสนใจ พึงพอใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”
บัณฑิตย์ อินทรชื่น (2526 : 1) ให้ความหมายกว้างๆ ว่า “การบริหารงานบุคคล” หมายถึง การดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลในองค์การ นับตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติงานจนกระทั่งออกจาก งานไป โดยเริ่มตั้งแต่การวางนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลัง การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาทำงาน การกำหนดชั้นและตำแหน่งงาน การกำหนดอัตราเงินเดือน และค่าจ้าง การสรรหาหรือการรับสมัคร การสอบ การคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้ง การให้ทดลองปฏิบัติงาน การจัดทำและเก็บรักษาทะเบียนประวัติ การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง การจัดสวัสดิการการรักษาสุขภาพและความปลอดภัย การปกครองบังคับบัญชา การพิจารณาโทษทางวินัย การให้พ้นจากงานและการให้บำเหน็จบำนาญ
บรรจง อภิรติกุล (2527 : 8) ให้ความหมายของคำว่า การบริหารงานบุคคล (Personnel Administration) หรือ การจัดการงานบุคคล (Personnel Management) หมายถึงการบริหารทางด้านการวางแผน การจัดรูปงาน การอำนวยการ และการควบคุมหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับบุคคล เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ขององค์การในอันที่จะให้เกิดประสิทธิภาพและประเมินผล และประหยัด
ถวัลย์ ศิลปกิจ (อ้างถึงใน บรรจง อภิรติกุล. 2527 : 7) ได้ให้ความหมาย ของการบริหารงานบุคคล ว่า การบริหารงานบุคคลเป็นงานที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลพนักงาน เจ้าหน้าที่ขององค์การเพื่อที่จะให้พลังงานบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น อำนวยประโยชน์แก่องค์การโดยก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและให้สามารถปฏิบัติงาน โดยได้รับผลงานมากที่สุดและโดยยึดหลักที่ว่าประโยชน์ขององค์การฝ่ายหนึ่งกับประโยชน์ของพนักงาน และคนงานอีกฝ่ายหนึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันหาได้ขัดแย้งกันไม่
ธงชัย สันติวงษ์ (2525 : 3) การบริหารงานบุคคล หมายถึง ภารกิจของผู้บริหาร ทุกคน (และของผู้ชำนาญการด้านบุคลากรโดยเฉพาะ) ที่มุ่งปฏิบัติในกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวกับการบุคลากร เพื่อให้ปัจจัยด้านบุคคลขององค์การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอด เวลาที่จะส่งผลสำเร็จต่อเป้าหมายขององค์การ
อำนวย ถาวร (2530 : 29) การบริหารงานบุคคล หมายถึง การดำเนินงานเกี่ยวกับการเลือกสรรบุคคลเข้าปฏิบัติงานและการใช้บุคคลที่มีอยู่แล้วในองค์การ โดยให้บุคคลที่เหมาะสมกับงานให้ได้ผลงานที่สูงที่สุดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้บุคคลขององค์การเกิดความพึงพอใจด้วย
เสนาะ ติเยาว์ (2532 : 10) ให้ความหมายของการบริหารงานบุคคล คือ การจัด ระเบียบ และดูแลบุคคลเพื่อบุคคลใช้ประโยชน์ และความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลให้มาก ที่สุด อันเป็นผลทำให้องค์การอยู่ในฐานะได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน และได้รับผลงานมากที่สุด รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับสูงสุด และต่ำสุด รวมตลอดถึงการดำเนินการต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับคนทุกคนในองค์การนั้น
จากแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า การบริหารงานบุคคล หมายถึง กระบวนการ จัดการเกี่ยวกับบุคคลเพื่อคัดสรรให้ได้ซึ่งคนดีมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานขององค์การเข้ามาปฏิบัติงานให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยองค์การจะต้องสร้างกระบวนการให้สามารถดึงดูด ธำรงรักษา และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ และมีความพึงพอใจที่จะปฏิบัติงานอยู่ในองค์การให้นานที่สุด เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลตามความมุ่งหมายขององค์การหรือหน่วยงานที่กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น